Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

เป็นกรดไหลย้อนทำยังไงให้หาย

เป็นกรดไหลย้อนทำยังไงให้หาย

            โรคกรดไหลย้อนเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยสำหรับคนในยุคปัจจุบันครับ โรคนี้เป็นอีกหนึ่งโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองท่ามกลางความรีบเร่งของสังคมเมือง ความน่ากลัวของโรคนี้ไม่ได้จำเพาะที่อาการแสดงของโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยรายใดได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ได้ดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเท่าที่ควรและปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังก็มีโอกาสอย่างมากครับที่ภาวะกรดไหลย้อนอาจจะพัฒนาจนนำไปสู่หลอดอาหารตีบและกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ในที่สุด โรคกรดไหลย้อนเป็นอย่างไรและเมื่อเป็นแล้วควรจะปฏิบัติตนอย่างไรดี บทความนี้มีคำตอบครับ

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากอะไร

            โรคกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหารที่เชื่อมต่อกับส่วนของกระเพาะอาหารครับ ผลที่ตามมาก็คือทำให้กรดหรือน้ำย่อยที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่บริเวณหลอดอาหารจนสร้างความระคายเคืองกับผนังของหลอดอาหารจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแสบร้อนที่กลางอก ในขณะที่บางรายน้ำย่อยนี้จะไหลย้อนขึ้นไปจนถึงบริเวณลำคอหรือไหลขึ้นไปได้จนถึงภายในช่องปาก ผู้ป่วยจะรู้สึกขม ๆภายในปากรวมไปถึงอาจรู้สึกระคายเคืองที่บริเวณลำคอได้ครับ สาเหตุที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนมักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องรวมไปถึงการใช้ชีวิตที่รีบเร่งในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่างหรือโรคบางชนิดก็ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้การทำงานของหลอดอาหารผิดปกติหรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากเกินไปจากปกติได้ครับเช่นการเข้านอนทันทีหลีงจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆการสูบบุหรี่ การดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้เกิดภาวะของกรดไหลย้อนได้ง่ายครับ

โรคกรดไหลย้อนห้ามกินอะไรบ้าง

            เพราะความผิดปกติของการทำงานของหูรูดรวมไปถึงการหลั่งกรดเกินในกระเพาะอาหารทำให้ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะของกรดไหลย้อนมีของแสลงที่ไม่ควรรับประทานอยู่จำนวนหนึ่ง สำหรับอาหารที่เป็นข้อห้ามข้อควรระวังสำหรับโรคกรดไหลย้อนมีดังต่อไปนี้

1.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์จะไปทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายเกิดการคลายตัว ซึ่งผลที่ตามมาก็คือมีโอกาสที่น้ำย่อยหรือกรดที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนกลีบขึ้นมาได้

2. คาเฟอีน

ผลของคาเฟอีนจะออกฤทธิ์เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่นก็คือจะไปทำให้หูรูดของหลอดอาหารส่วนปล่ายคลายตัวทำให้น้ำย่อยหรือกรดที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนกลับขึ้นมาได้เช่นกัน

3. น้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 ตัวก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำอัดลมจะไปเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะรวมถึงไปเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารให้เพิ่มขึ้นได้จึงเป็นตัวกระตุ้นให้กรดและน้ำย่อยสามารถย้อนกลับขึ้นมาได้ง่ายกว่าปกติ

4. อาหารที่มีไขมันสูง

 เพราะไขมันจากอาหารจะส่งผลให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลงทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานกว่าปกติซึ่งส่งผลให้กรดและน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารมีโอกาสไหลย้อนกลับขึ้นมาได้

5. อาหารหมักดอง ผักที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารรวมถึงน้ำส้มสายชู

 อาหารหมักดอง ผักบางชนิดและน้ำส้มสายชูจะทำให้ภายในกระเพาะอาหารเกิดแก๊สและกรดมากกว่าปกติทำให้มีโอกาสที่น้ำย่อยจากในกระเพาะอาหารจะถูกดันและไหลย้อนกลับขึ้นไปยังบริเวณหลอดอาหาร

6. ช็อกโกแลต

เมื่อเรารับประทานช็อกโกแลตเข้าไป ตัวโกโก้จะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของสารเซโรโทนินมากขึ้นซึ่งตามปกติสารนี้จะไปกระตุ้นให้หูรูดของกระเพาะอาหารเกิดการคลายตัวในกรณีที่เกิดการระคายเคืองที่บริเวณทางเดินอาหาร เมื่อเซโรโทนินไปกระตุ้นให้หูรูดคลายตัวก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

7. ผลไม้ที่มีกรดมาก

 เช่นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวต่าง ๆเป็นสิ่งที่ผู้ที่มีภาวะของกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงครับ เพราะกรดจากผลไม้จะไปเพิ่มปริมาณกรดภายในกระเพาะอาหารให้เพิ่มขึ้นและอาจนำไปสู่ภาวะของกรดไหลย้อนได้เช่นกัน

เป็นกรดไหลย้อนทำยังไงให้หาย วิธีรักษากรดไหลย้อนขึ้นคอ วิธีรักษากรดไหลย้อนด้วยตัวเอง

            เป็นกรดไหลย้อนทำยังไงให้หาย วิธีการรักษากรดไหลย้อนที่ดีที่สุดคือการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองครับ เช่นหากรู้ว่าตนเองมีพฤติกรรมที่เสี่ยงจะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนหรือทำให้อาการกรดไหลย้อนของตนเองกำเริบขึ้นมาคุณก็ควรที่จะละเว้นไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารในปริมาณที่พอดีไม่รับประทานอาหารมากเกินไปจนรู้สึกจุกหรืออิ่มเกิน ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพราะโรคอ้วนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ รวมไปถึงไม่ควรเข้านอนทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ และการงดเว้นอาหารบางชนิดที่จะไปกระตุ้นให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบขึ้นมาหรือจะไปส่งเสริมให้เกิดภาวะของกรดไหลย้อนครับ

            ในบางรายที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงยังไม่ได้ผลการรักษาที่ต้องการ ในทางการแพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพื่อไม่ให้เกิดกรดเกินภายในกระเพาะครับ นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารที่จะไปเพิ่มการทำงานของลำไส้ให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้นทำให้อาหารไม่ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานเกินไปจนส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้

            แต่หากวิธีการรักษาข้างต้นยังไม่ทำให้อาการดีขึ้นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำก็คือให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารเพื่อไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารมีโอกาสไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ครับ

            อย่างที่กล่าวไปแล้วครับว่าโรคกรดไหลย้อนเป็นอีกหนึ่งภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนในยุคนี้และมีแนวโน้มที่จะมีโอกาสพบผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นในปัจจุบันจากเหตุผลของวิถีชีวิตของคนในยุคนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมากครับ

ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้คุณต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคไม่พึงประสงค์ที่มีโอกาสพัฒนาไปสู่โรคที่ร้ายแรงกว่านี้ก็คือการหมั่นดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนี้ครับ เพียงเท่านี้คุณก็จะห่างไกลจากภาวะของกรดไหลย้อนได้อย่างแน่นอน

Add Comment