Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

โรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ

โรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ

เคยได้ยินผู้สูงอายุหลาย ๆ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อใกล้จะถึงเวลาเกษียณอายุจากการทำงาน หลาย ๆ คนตื่นเต้นมากเพราะจะได้ใช้ชีวิตที่ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องตื่นแต่เช้า ไม่ต้องผจญกับรถติดอีกต่อไป และเริ่มคิดวางแผนว่าหลังเกษียณตนเองจะทำอะไรบ้าง จะไปเที่ยวที่ไหน จะกินอยู่อย่างไร จะเลี้ยงหลานให้มีความสุขสมกับที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต หลาย ๆ ท่านก็ทำได้ตามแผนที่วางไว้ แต่อีกจำนวนไม่น้อยที่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะแทนที่จะมีความสุขกลายเป็นว่าต้องปรับตัวเผชิญหน้ากับความเหงา จากที่เคยแวดล้อมด้วยเพื่อนร่วมงานก็ต้องอยู่คนเดียวในช่วงกลางวัน ที่บ้านก็ไม่มีใครเพราะลูกหลานก็ออกไปทำงาน ทำกิจกรรมของตนเอง

            ผู้สูงอายุบางท่านจะเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าเช่นเดิม ความสดชื่นที่เคยมีก็ถูกพรากหายและกลายเป็นความเงียบเหงาเข้ามาแทนที่ หากลูกหลานไม่ทันสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ก็มีโอกาสพัฒนาไปสู่ภาวะของ “โรคซึมเศร้า” หนึ่งในโรคที่ถูกพูดถึงกันมากในยุคปัจจุบัน เรามาดูกันว่าภาวะโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไรกันครับ

เศร้าแค่ไหนถึงเรียกว่าโรคซึมเศร้า

            ความเศร้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติ ความเศร้าเป็นอารมณ์ที่เกิดจากความผิดหวังหรือเสียใจ ความไม่สมหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความเศร้ามักจะเกาะกินเราไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นเวลาจะช่วยเยียวยาให้กลับมาสู่สภาวะปกติ

            โรคซึมเศร้า (Depressive Disorder) คือความผิดปกติทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยจะรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ความรู้สึกเหล่านี้จะมีความรุนแรงมากกว่าและเกิดยาวนานมากกว่าความรู้สึกเศร้าตามปกติ ผลจากโรคซึมเศร้าจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ผู้ป่วยจะไม่อยากทำอะไรเลยและจมอยู่กับความเศร้านั้นทั้งวัน บางรายเล่าให้ฟังว่าสามารถนอนมองเพดานได้เป็นวัน ๆ โดยไม่อยากลุกไปไหน และไม่ต้องการพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเลยแม้กระทั่งการดูแลสุขอนามัยของตนเอง นี่คือความแตกต่างของอาการเศร้ากับภาวะโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามีกี่แบบและใครมีโอกาสเป็นได้มากกว่า

โรคซึมเศร้าแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามอาการที่เป็นดังนี้

            -ชนิดรุนแรง (Major Depressive Disorder) เป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากและส่งผลกระทบต่อการ ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน ทั้งการกิน การอยู่ การทำงาน และการเรียน การนอนหลับ ในราย ที่มีอาการมากอาจปรากฏความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือต้องการฆ่าตัวตาย

            -ชนิดเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) เป็นชนิดที่มีความรุนแรงน้อยกว่าแบบแรก แต่อยู่กับ ผู้ป่วยยาวนานกว่า ผู้ป่วยมักแสดงอาการตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังก็มีโอกาส ที่จะเผชิญภาวะซึมเศร้ารุนแรงร่วมด้วยเป็นบางครั้ง      

            โรคซึมเศร้านี้มักพบอุบัติการณ์ในเพศหญิงมากกกว่าเพศชายแต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายจะไม่เป็นเพียงแต่โอกาสเกิดในเพศหญิงสูงกว่าเท่านั้น

อาการของโรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ

            ภาวะซึมเศร้ามีอาการปรากฏแตกต่างกัน แต่อาการเด่น ๆ คือมักมีอารมณ์เศร้า หดหู่ วิตกกังวล มีความคิดว่าตนเองไร้ค่าไม่มีความหมายต่อคนอื่น รู้สึกโดดเดี่ยวสิ้นหวังและหงุดหงิดง่าย โดยอารมณ์เหล่านี้จะมีความรุนแรงและปรากฏยาวนานกว่าปกติ ผลจากสภาวะทางจิตใจที่ผิดปกติไป บ่อยครั้งเราจะพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้นด้วยเช่นร่างกายรู้สึกอ่อนล้า มีความเจ็บปวดตามร่างกาย มีความผิดปกติในการนอนหลับบางคนหลับยากแต่บางคนนอนหลับมากเกินไป จะทำอะไรก็ไม่มีสมาธิจึงทำให้ทำงานไม่ได้ หมดความสนใจในเรื่องที่ตนเองเคยชอบเช่นอาจเป็นคนชอบทำอาหารก็ไม่อยากทำอีกต่อไป มีพฤติกรรมแยกตัวเองออกจากสังคม ไม่สุงสิง ไม่พูดคุยกับใคร และในรายที่เป็นหนักมักมีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

สาเหตุของโรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ

            โรคซึมเศร้าเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุและปัจจัยมาประกอบกันและพัฒนาอาการไปสู่ภาวะซึมเศร้า โดยอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

            -การทำงานของสมองบางส่วนที่ผิดปกติทำให้มีระดับสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน

            -มีอุปนิสัยดั้งเดิมที่เอื้อต่อการเกิดภาวะโรคซึมเศร้า

            -เผชิญกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดและกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง

            -จากอาการป่วยของตนเองซึ่งต้องใช้ยาในการรักษาและมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

การวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า

            หากพบว่าผู้สูงอายุมีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบพาท่านไปพบแพทย์ทันที โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการพูดคุยเพื่อประเมินอาการ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมว่าจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ หรือมีความรุนแรงระดับใด โดยใช้ชุดคำถามที่เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบ

            หากแพทย์ประเมินแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าก็จะส่งต่อเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ หรือไม่ โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะแล้วให้การพิจารณารักษาต่อไป

การรักษาโรคซึมเศร้าผู้สูงอายุ

            ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าอยู่ 3 วิธี ที่ทางการแพทย์นิยมใช้กันได้แก่

            1. การใช้ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งตัวยาจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น การใช้ยาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด

            2. การพูดคุยบำบัดทางจิต เป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทีมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งนักจิตบำบัดจะช่วยบำบัดผู้ป่วยเพื่อให้มีทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ช่วยให้รับมือกับปัญหาความเครียดและให้คำปรึกษา

            3. การกระตุ้นเซลล์สมองใช้ในกรณีที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย สามารถแบ่งได้ 2 วิธีคือ

            – การช็อคด้วยไฟฟ้า

            – การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

            4.แพทย์ทางเลือก ใช้สมุนไพรเพื่อบำรุงและฟื้นฟูเซลล์สมอง เพื่อให้เซลล์สมองได้รับการกระตุ้นให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้กลับมามีชีวิตที่สดชื่นแจ่มใสมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสเกิดขึ้นเมื่อผู้สูงอายุเป็นโรคซึมเศร้า

            ดั่งคำว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ผู้สูงอายุที่มีภาวะอาการของโรคซึมเศร้ามักมีภาวะแทรกซ้อนทางกายร่วม เช่น เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายที่ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว มีปัญหาด้านการนอนหลับ มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

การป้องกันภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ สิ่งที่ลูกหลานช่วยทำได้

            แม้ว่าจะไม่มีวิธีการป้องกันโดยตรง แต่การทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสก็มีส่วนช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุยิ่งต้องการกำลังใจมากเป็นพิเศษ ลูกหลานควรใส่ใจดูแล มีกิจกรรมร่วมกันก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

            ผู้สูงอายุก็คือไม้ใกล้ฝั่ง การมีสุขภาพที่ดีนั่นหมายถึงสุขภาพทางกายก็จะดีขึ้นตามมา อย่าปล่อยให้ท่านต้องรู้สึกอ้างว้างเดียวดาย ท่านทำงานหนักมาทั้งชีวิตก็ถึงเวลาที่ท่านจะใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข อย่าลืมว่ากำลังใจที่ดีที่สุดหาได้ไม่ไกล นั่นก็คือกำลังใจจากลูก ๆ หลาน ๆ นี่เอง

Add Comment