Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

วิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

วิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่ในบางครั้งมันก็ไม่อาจเลี่ยงได้เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่าง ผู้สูงอายุก็เช่นกันความเจ็บป่วยย่อมหมายถึงความเสื่อมโทรมของร่างกาย ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มเป็นเงาตามตัว ยิ่งไปกว่านั้นโอกาสในการแสวงหาความสุขในบั้นปลายของชีวิตหลังจากที่ตรากตรำทำงานมาทั้งชีวิตก็มีอันต้องมลายหายไป ผู้สูงอายุบางรายต้องเข้านอกออกในโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น แต่ที่แย่กว่านั้นคือถ้าผู้สูงอายุคนไหนถ้าผู้สูงอายุคนไหนมีอันต้องติดแหง็กเป็นผู้ป่วยติดเตียง ความรู้สึกคงจะแย่มาก ๆ วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันว่าหากมีผู้สูงอายุ ที่ต้องนอนติดเตียง ลูกหลานจะช่วยดูแล ผู้สูงอายุ เหล่านี้อย่างไร

ประเภทของผู้ป่วยติดเตียง

ผู้ป่วยติดเตียงมี 2 ประเภทใหญ่เมื่อแบ่งตามการรู้สึกตัวคือ

            -ผู้ป่วยติดเตียงที่สูญเสียการรู้สึกตัว ถือเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงโดยสมบูรณ์เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ต้องพึ่งพาคนอื่น 100 %  ศัพท์ที่ได้ยินบ่อยในการเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ “เจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา”

            -ผู้ป่วยติดเตียงที่ยังรู้สึกตัวเองดีอยู่แต่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ คือผู้ป่วยที่ยังพอขยับเขยื้อนตัวเอง ได้บ้าง ต้องพึ่งพาผู้อื่นเกือบ 100% ยังพอช่วยเคลื่อนไหวได้เล็กน้อยหรือบางรายก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องให้ผู้อื่นช่วย 100%

โรคที่ทำให้เป็นผู้ป่วยติดเตียง

            โดยส่วนใหญ่โรคที่มักทำให้เกิดภาวะติดเตียงมักเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง แต่ก็มีโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเช่นโรคเรื้อรังบางประเภทก็ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงภาวะจิตใจของผู้สูงอายุเองก็มีส่วนทำให้ไม่อยากจะทำอะไรและต้องกลายสภาพไปเป็นผู้ป่วยติดเตียง

วิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียง  

เพื่อความสุขความสบายของผู้สูงอายุในภาวะที่อยู่ติดเตียง ลูกหลานสามารถช่วยเหลือและทำให้ท่านได้รับความสบายมากที่สุดดังต่อไปนี้

                1. สถานที่

            ควรเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก เป็นสัดเป็นส่วน ดูแลความสะอาดสม่ำเสมอ ถ้าจะให้ดีควรอยู่ในตำแหน่งที่เคลื่อนย้ายตัวผู้ป่วยได้สะดวกในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีการวางแผนเคลื่อนย้ายและมีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลใกล้บ้านติดอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน

                2. เตียงนอน

            ควรมีความสูงที่เหมาะสมเพื่อให้การช่วยเหลือของผู้ช่วยมีความสะดวก ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่มักจะพลิกตัวหรือขยับตัวเองไม่ได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับจึงต้องคอยหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือใช้เบาะลมเพื่อป้องกันแผลกดทับ

                3. การรับประทานอาหาร

            กิจกรรมนี้ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นบนเตียงเช่นกัน อย่าให้ผู้ป่วยทานอาหารในท่านอนเด็ดขาดเพราะเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร ควรจัดให้อยู่ในท่านั่งโดยไขเตียงสูงหรือนั่งห้อยขาข้างเตียงสำหรับผู้ป่วยที่พอจะนั่งได้เอง หลังทานอาหารเสร็จก็ควรจะให้นั่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนปรับเป็นท่านอน ในรายที่ต้องใส่สายให้อาหารก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันเพียงแต่ต้องระวังไม่ให้สายหลุดและดูแลความสะอาดให้ดี และไปพบหมอเพื่อทำการเปลี่ยนสายตามกำหนด

                4. การขับถ่าย

            หมั่นดูแลเปลี่ยนผ้าอ้อมทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่เกิดการขับถ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ในผู้ป่วยที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะต้องคอยดูแลความสะอาดของสายให้ดีและหมั่นสังเกตสีของปัสสาวะ หากมีสีขาวขุ่นผิดปกติหรือปัสสาวะไม่ออก ควรพาไปพบแพทย์ทันที ขณะเดียวกันต้องพาไปเปลี่ยนสายสวนที่โรงพยาบาลทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ ไม่ควรทำการเปลี่ยนสายสวนเองโดยเด็ดขาด

                5. การทำความสะอาดร่างกาย

            สามารถเช็ดตัวหรือสระผมให้ผู้ป่วยเพื่อสุขอนามัยได้ โดยอาจเป็นวันเว้นวันหรืออาทิตย์ละ 2-3 ครั้งตามความเหมาะสม

                6.ถ้าผู้ป่วยเจาะคอ

            สิ่งที่ต้องระมัดระวังคืออาจเกิดการอุดตันของท่อ ท่อที่อยู่ที่คอของผู้ป่วยสามารถถอดเอาท่อด้านในออกมาล้างทำความสะอาดได้และลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อได้ โดยทั่วไปมักจะถอดออกมาล้างทุก ๆ 2-3 วัน

            บางกรณีผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องดูดเสมหะ ซึ่งญาติหรือผู้ดูแลสามารถช่วยดูดเสมหะได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและวิธีการอย่างเคร่งครัด

                7. ดูแลโภชนาการ

            อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยที่อยู่ติดเตียงมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะจะสร้างความลำบากให้แก่ทั้งผู้ป่วยเองและคนที่ช่วยดูแล

                8. แม้จะติดเตียงก็ยังคงต้องออกกำลัง

            การออกกำลังกายยังคงจำเป็นเสมอแม้ผู้ป่วยจะอยู่ติดเตียง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยป้องกันไม่ให้เส้นยึดติดซึ่งจะสร้างความลำบากให้แก่คนช่วยและตัวผู้ป่วยเอง การออกกำลังกายอาจทำโดยผู้เชี่ยวชาญเช่นนักกายภาพบำบัด  นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยนั่งข้างเตียงได้บ้าง เพราะการนั่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกปอดขยายเต็มที่ ยังทำให้ความดันคงที่อีกด้วย

                9. อย่าลืมดูแลจิตใจ

            ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการกำลังใจ ผู้ป่วยที่อยู่ติดเตียงก็เช่นกันและผู้ป่วยเหล่านี้ยิ่งต้องการกำลังใจและการเอาใจใส่มากกว่าปกติ การดูแลแต่ร่างกายโดยละเลยด้านจิตใจจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งหดหู่และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าลูกหลานควรหมุนเวียนมาให้กำลังใจหรือร่วมทำกิจกรรมกับท่าน เพื่อให้ท่านยังรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญ หมั่นพูดคุย ทักทายอย่าปล่อยให้ท่านเดียวดาย แล้วท่านจะมีความสุขโดยลืมความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ครับ

            ความสุขของผู้สูงอายุไม่ได้อยู่ที่ความสุขทางกาย หากแต่เกิดจากการแวดล้อมด้วยลูกหลานที่รักและเอาใจใส่ แม้ว่าร่างกายจะเจ็บป่วยหากแต่กำลังใจที่ได้รับจากลูกหลานคือยาชูกำลังที่ดีที่สุดและเปรียบดั่งน้ำทิพย์ที่ชโลมใจให้ผู้ป่วยมีกำลังที่จะต่อสู้กับความเจ็บป่วยและใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข

Add Comment