Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ

โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ

“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” คำกล่าวนี้ดูจะไม่เกินจริงเลย ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด เพราะโรคภัยไข้เจ็บคือจุดเริ่มต้นของผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพที่ย่ำแย่เสื่อมโทรม สูญเสียเงินทองเพื่อใช้รักษาพยาบาล และสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลงจากความวิตกกังวล เป็นต้น

            โรคภัยไข้เจ็บหลายโรคสามารถรักษาให้หายได้ แม้กระทั่งอาการที่ปรากฏออกมาอาจดูไม่ดีนัก บางโรคอาจต้องใช้การตรวจร่างกายจึงจะพบและทำการรักษา ซึ่งหนึ่งในโรคที่ต้องใช้การตรวจร่างกายหรือการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ “โรคความดันโลหิตสูง” ซึ่งแม้ภายนอกจะดูปกติ แต่โรคนี้มักกัดกร่อนให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เป็นโรคที่มาอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นอันตรายอย่างยิ่งในระยะยาว ในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

โรคความดันโลหิตสูง คือ          

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันเสียก่อน ความดันโลหิตสูง (hypertension) คือ ภาวะความผิดปกติของความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง โดยค่าความดันเลือดที่วัดได้จะได้ค่าความดันที่ “สูง” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งปกติแล้วความดันโลหิตในคนปกติจะมีค่า 120/80 mmHg (มิลลิเมตรปรอท) โดยค่าความดันตัวแรกเราเรียกว่าค่า Systolic หรือค่าความดันในขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และค่าความดันตัวที่ 2 เราเรียกว่าค่า diastolic หรือค่าความดันในขณะที่หัวใจคลายตัวภายหลังการบีบตัวนั่นเอง

            สาเหตุที่เราต้องมีความดันโลหิตเนื่องมาจากการบีบตัวของหัวใจแต่ละครั้งเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ร่างกายของเราจะมีแรงต้านจากในหลอดเลือดจึงต้องพยายามปั๊มหรือสูบฉีกเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และความพยายามปั๊มเลือดเพื่อไปเลี้ยงร่างกายนี่เอง คือค่าความดันโลหิตที่เราวัดได้ ดังนั้นเมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติจนทำให้แรงต้านนี้สูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดออกไป เมื่อต้องพยายามปั๊มเลือดเพื่อเอาชนะแรงต้านให้ได้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตของเราสูงขึ้น เมื่อเกิดเป็นระยะเวลานานจึงกลายเป็นภาวะความดันโลหิตสูงในที่สุด

โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ เกิดจากอะไร        

โรคความดันโลหิตสูงมี 2 ประเภท ได้แก่

            – ความดันโลหิตสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Primary Hypertension) นี่คือกลุ่มที่พบได้มากที่สุดโดยเฉพาะในผู้ใหญ่ สิ่งที่น่าปวดหัวก็คือกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่องมานานและค่อยเป็นค่อยไปจนไม่สามารถระบุต้นเหตุของโรคได้ในที่สุด

            – ความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) ส่วนมากเกิดจากภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น เป็นโรคไต, ต่อมไทรอยด์, เนื้องอก, ต่อมหมวกไต, หลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด, ใช้ยาบางชนิด, ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ เป็นต้น

            แต่ในบางครั้งก็พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่มีส่วนทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ปัจจัยดังกล่าวเช่น

            – อายุ : อายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากขึ้น

            – เพศ : ผู้ชายพบได้มากกว่าผู้หญิงและอายุเฉลี่ยที่พบก็น้อยกว่า

            – พันธุกรรม : ผู้ที่พบประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า

            – รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง

            – สูบบุหรี่ : ทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบตัน หัวใจต้องบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดมากขึ้น

            – โรคอ้วน

            – ขาดการออกกำลังกาย

โรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ อาการโรคความดันโลหิตสูง     

ที่น่าเศร้าคือโรคนี้ไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมาเลย การตรวจพบจึงต้องอาศัยการตรวจสุขภาพหรือวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นบางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจแสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น ปวดศีรษะ เวียนหัว เลือดกำเดาไหล แต่อาการเหล่านี้ก็ยังไม่จัดว่าเป็นอาการจำเพาะเจาะจงจึงบอกไม่ได้อย่างชัดเจน โรคความดันโลหิตสูงจึงเป็นฆาตกรเงียบที่แฝงตัวเป็นกาฝากอย่างน่ากลัว

ความดันโลหิตสูง เท่าไหร่         

โดยมากแล้วผู้ใดที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะเข้าข่ายโรคความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

            ระยะที่ 1 : วัดค่าความดันโลหิตได้ 140-159/90-99 mmHg

            ระยะที่ 2 : วัดค่าความดันโลหิตได้ 160/100 mmHg

            ระยะที่ 3 : วัดค่าความดันโลหิตได้ 180/110 mmHg ขึ้นไป

            สำหรับผู้ที่มีค่าความดันโลหิตประมาณ 130/80 mmHgหรือสูงกว่าแต่ไม่ถึง 140/90 และต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มภาวะก่อนความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงในอนาคต

โรคแทรกซ้อนของความดันโลหิต         

โดยลักษณะอาการของโรคเองนั้นไม่น่ากลัวเท่ากับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ ได้แก่

            สมอง : ทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรือโป่งพอง มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

            หัวใจ : เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักทำให้หัวใจโต ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

            หลอดเลือด : เป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดตีบ, แข็งหรือโป่งพอง

            ตา : มีผลต่อหลอดเลือดที่ตา ทำให้เลือดออกที่จอประสาทตา และหลอดเลือดที่จอประสาทตาอุดตัน

            ไต : มีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้เลือดมาเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะไตวาย

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

            1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร ลดการทานโซเดียมหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงการควบคุมไขมันและน้ำตาล ใช้สมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิต เช่น กระเทียม

            2. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่

            3. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

            4. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

            5. ไม่อยู่ในภาวะที่มีความเครียดสะสม

            6. ในบางรายอาจต้องใช้ยาช่วยลดความดันโลหิตตามที่แพทย์สั่ง

            โรคความดันโลหิตสูงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราเรียนรู้และรู้จักมันดีพอ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การรักษา แต่อยู่ที่เราจะป้องกันตนเองและดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง ยิ่งเฉพาะในคุณตาคุณยาย เพราะสุขภาพของคนในวัยนี้ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้คุณตาคุณยายมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุขมากที่สุดนั่นเอง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ Buy-Button.png

Add Comment