โรคไตเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยครับ เพราะเมื่อเป็นโรคนี้แล้วผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลที่ถูกวิธีก็มีโอกาสที่โรคจะพัฒนาจนนำไปสู่ภาวะของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ ซึ่งแทบจะไม่มีวิธีการรักษาเลยนอกจากการฟอกไต โรคนี้จึงบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไปไม่น้อยเลยทีเดียว โรคไตเกิดจากสาเหตุใด มีวิธีการรักษาและป้องกันได้อย่างไร ในบทความนี้เรามีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากครับ
โรคไตคืออะไร ? ทำไมผู้ที่เป็นโรคนี้จึงต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะของโรคนี้
“ไต” คืออวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญในแง่ของการช่วยกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นในร่างกาย โดยเลือดที่มีของเสียจะถูกลำเลียงผ่านเส้นเลือดไปยังไตและที่ไตนี้เองจะทำหน้าที่กรองของเสียต่าง ๆออกไปและกำจัดผ่านทางน้ำปัสสาวะครับ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่ในการกำจัดของเสียไตก็ยังมีหน้าที่ในการควบคุมสมดุลเกลือแร่ในร่างกายและสร้างฮอร์โมนที่สำคัญต่อร่างกายครับ ดังนั้นโรคไตจึงหมายถึงภาวการณ์ทำงานของไตที่ค่อย ๆลดลงอย่างช้า ๆหรือถ้าให้พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือภาวะที่ไตเริ่มเสื่อมและทำให้การทำงานต่าง ๆในไตลดลงครับ ภาวะโรคไตนี้มักจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกที่ตรวจพบอาจพบความเสื่อมเพียงเล็กน้อยจากการตรวจเจอโปรตีนบางอย่างในน้ำปัสสาวะที่มากกว่าปกติ หรือพบการทำงานของไตลดลงจากค่าปกติ แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกวิธีเมื่อระยะเวลาผ่านไปนานขึ้นไตจะค่อน ๆ เสื่อมมากขึ้นตามลำดับและสุดท้ายไตก็จะสูญเสียการทำหน้าที่อย่างถาวรกลายเป็นโรคไตเรื้อรังในที่สุดครับ
สาเหตุของโรคไตเรื้อรังเกิดจากอะไรได้บ้าง
สาเหตุของโรคไตมีด้วยกันหลายประการครับ แต่คนส่วนมากมักจะเข้าใจผิดว่าสาเหตุของโรคไตเกิดจากการชอบรับประทานอาหารที่มีรสเค็มเท่านั้น สาเหตุของโรคไตที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน เพราะน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติจะมีผลไปทำลายหลอดเลือดต่าง ๆโดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็กครับ ซึ่งในไตนั้นประกอบไปด้วยหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก ระดับน้ำตาลในเลือดที่มากเกินไปก็จะมีโอกาสไปทำลายหลอดเลือดฝอยที่อยู่ในไตและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตได้ในที่สุด
- โรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงก็มีผลทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กได้เช่นกันและมีผลทำลายหลอดเลือดฝอยในไตอันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมได้ครับ
- โรคไตอักเสบ ภาวะไตอักเสบนี้เกิดจากหลายสาเหตุ โดยผู้ป่วยจะมีภาวะปัสสาวะเป็นเลือดรวมถึงมีโปรตีนบางชนิดรั่วออกมาในปัสสาวะทำให้ปัสสาวะมีฟอง หากปล่อยทิ้งเอาไว้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไตเสื่อมครับ
- โรคไตจากกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติแต่กำเนิดเช่นโรคถุงน้ำในไตซึ่งเกิดจากมีถุงน้ำจำนวนมากภายในเนื้อไตและมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง โดยมากผู้ที่เป็นโรคนี้ไตจะเริ่มเสื่อมหน้าที่ลงเมื่อผู้ป่วยอายุประมาณ 20-30 ปี
- ไตวายจากสาเหตุอื่น ๆ รวมถึงการใช้ยาและได้รับสารเคมีต่าง ๆ อันได้แก่ ยาแก้ปวดโดยเฉพาะยาที่เรียกว่า NSAIDS ยาลดความอ้วน ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
วิธีการรักษาโรคไต
การรักษาโรคไตแบ่งได้ 2 วิธีคือการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการรักษาโดยวิธีการทางธรรมชาติครับ โดยการรักษาทั้ง 2 วิธีมีวิธีการดังนี้
1. การรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน:
ในรายที่เริ่มตรวจพบภาวะความเสื่อมในระยะแรก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆที่จะส่งผลให้การทำงานของไตแย่ลงไม่ว่าจะเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงมาก รวมไปถึงการหยุดใช้ยาหรือสารเคมีที่ส่งผลต่อการทำงานของไตครับ นอกจากนี้แพทย์ยังอาจให้คำแนะนำการปฏิบัติตนเองเพื่อชะลอไม่ให้ไตเสื่อมลงมากขึ้นเช่นการรับประทานอาหารที่เหมาะสมเป็นต้น
แต่ในรายที่เป็นโรคไตและมีภาวะไตเสื่อมมากจนทำให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดังเดิมแพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยแนวทางใดแนวทางหนึ่งจากทั้ง 3 แนวทางคือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านทางหน้าท้องและการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งแนวทางทั้ง 3 มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกัน จึงต้องมีการปรึกษาหารือกันระหว่างแพทย์ ญาติและตัวผู้ป่วยเองเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุดครับ
2. การรักษาโดยวิธีการทางธรรมชาติ:
โดยมากการรักษาโดยวิธีการทางธรรมชาติจะใช้สมุนไพรที่ออกฤทธิ์ในการบำรุงไต เพื่อทำให้ไตมีการทำงานที่ดีขึ้นและช่วยชะลอไม่ให้ไตเสื่อมครับ โดยตัวอย่างสมุนไพรที่ช่วยบำรุงไตมีดังนี้
– กล้วยป่า สารโพลฟีนอลจะสามารถช่วยชะลอความเสื่อมของไตจากอนุมูลอิสระ
– ผักขมหิน มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะและลดการอักเสบ
– หญ้าหนวดแมว มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ขับกรดยูริกและช่วยขับนิ่วเล็ก ๆได้
– ต้นเกล็ดปลา มีสรรพคุณในการขับนิ่วและลดการอักเสบ
– เจ็ดกำลังช้างสาร มีสรรพคุณบำรุงไต ผ่านกลไกการต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ ช่วยขับ ปัสสาวะ
การป้องกันโรคไต
วิธีการป้องกันโรคไตที่ดีที่สุดคือการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมครับ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไตเสื่อมได้แก่
– การควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ
– การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
– การจำกัดการรับประทานอาหารรสเค็มเพราะจะทำให้ไตทำงานหนักมากขึ้นจากการขับเกลือส่วนเกินในร่างกายทิ้ง
– ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวันเพื่อไม่ให้ไตต้องทำงานหนัก
– ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– เลิกสูบบุหรี่
– ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แม้โรคไตจะเป็นโรคที่น่ากลัวและบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย แต่กระนั้นด้วยระยะเวลาการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนานจึงทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือตรวจพบโรคไตในระยะแรกเริ่มมีโอกาสที่จะชะลอไม่ให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและเข้าสู่ภาวะไตวายได้ครับ หมั่นดูแลสุขภาพของตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไต เพียงเท่านี้คุณก็สามารถห่างไกลจากโรคร้ายอย่างโรคไตเรื้อรังได้แล้วครับ
Add Comment