Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

โรคออฟฟิศซินโดรม ปล่อยไว้ลามโรคร้ายแรงอีกเยอะ

โรคออฟฟิศซินโดรม ปล่อยไว้ลามโรคร้ายแรงอีกเยอะ

            ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการที่ได้ยินกันมากในปัจจุบันครับ โดยมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะการทำงานของคนยุคใหม่ที่เป็นการนั่งทำงานบนโต๊ะทำงาน รวมถึงการทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์ครับ อาการของโรคนี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับระบบกระดูก เอ็นและกล้ามเนื้อของร่างกายซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะท่าทางในการทำงานโดยตรง จริงอยู่ที่ว่าในเบื้องงต้นกลุ่มอาการนี้มักจะไม่มีความรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในระยะยาวหากปล่อยให้อาการเป็นมากขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือไม่แก้ไขท่าทางการนั่งทำงานของตนเองก็มีโอกาสที่จากอาการเพียงเล็กน้อยนี้จะพัฒนาจนกลายเป็นกลุ่มโรคอื่นที่มี่ความรุนแรงกว่าได้ครับ โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างไร และสัมพันธ์กับลักษณะงานของคนในยุคนี้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ

อาการโรคออฟฟิศซินโดรม  

            ออฟฟิศซินโดรมแท้จริงแล้วไม่ใช่โรคครับ แต่คำ ๆนี้คือคำเรียกรวมกันของกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานครับ โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นจากการมีท่าทางในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสมและมักเกิดขึ้นได้บ่อยกับหนุ่มสาวในออฟฟิศ จึงเป็นที่มาของคำว่าออฟฟิศซินโดรมนั่นเอง โดยอาการของออฟฟิศซินโดรมที่มักจะพบได้บ่อยคือ

  • กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง
  • เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท
  • ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท
  • กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ
  • นิ้วล็อก
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
  • ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ
  • หลังยึดติดในท่าแอ่น
  • กล้ามเนื้อตึงรั้งและหดสั้นในบางจุด
  • ปวดคอ บ่าและไหล่ เป็นต้น
  • ริสซีดวงทวารหนัก

ซึ่งอาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มอาการอื่น ๆที่มีความรุนแรงมากขึ้นได้ครับ

สาเหตุโรค ออฟฟิศซินโดรม

            อย่างที่กล่าวข้างต้นครับว่ากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมมักจะเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวในวัยทำงานโดยเฉพาะกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ สาเหตุที่กลุ่มอาการนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศมากกว่าคนที่ทำงานภาคสนามนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวครับ หากจะทำความเข้าใจเรื่องของการเคลื่อนไหวว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมอย่างไร

ก็ต้องขอพูดถึงเรื่องของระบบกล้ามเนื้อ เอ็นและกระดูกของร่างกายสักเล็กน้อยครับ โดยร่างกายของคนเรามีความสมมาตรกันทางซ้ายและขวา รวมไปถึงด้านหน้าและด้านหลังครับ ซึ่งท่าทางที่สมมาตรกันนี้เกิดจากยึดโยงของระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นของร่างกายครับเปรียบเสมือนสายสลิงที่ยึดโยงโครงราวของสะพานแขวนก็ไม่ปาน ซึ่งในภาวะปกติที่ร่างกายมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวความสมมาตรนี้ก็จะยังคงอยู่ กล้ามเนื้อของร่างกายจะมีการขยับเขยื้อนและมีความยืดหยุ่นอยู่เสมอ จึงทำให้ร่างกายไม่มีความผิดปกติใด ๆเกิดขึ้นครับ

            แต่เพราะลักษณะการทำงานของคนในออฟฟิศที่เน้นการนั่งทำงานบนโต๊ะทำงานมากกว่า มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการทำงาน การเขียนหนังสือหรือเซ็นเอกสารก็เกิดขึ้นแต่บนโต๊ะทำงานเท่านั้น หากไม่นับช่วงเวลาที่ลุกไปเข้าห้องน้ำหรือไปทานอาหารกลางวัน ชีวิตประจำวันในการทำงานของคนส่วนใหญ่กว่า 90% ของเวลาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นบนโต๊ะทำงานเท่านั้นครับ

เมื่อต้องนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะทำงานเพียงอย่างเดียวโดยมีการขยับเขยื้อนร่างกายน้อยมาก กล้ามเนื้อบางมัด เส้นเอ็นบางจุดจะเกิดความตึงตัวขึ้นเพราะต้องทำงานมากกว่าปกติ และเลี่ยงไม่ได้เลยที่ท่าทางในการนั่งทำงานจะไม่สมมาตรครับ เช่นบางคนติดนั่งหลังค่อม เป็นต้น เมื่อปัจจัยทุกอย่างมาผสมกันภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆทุกวัน กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นที่ตึงรั้งเหล่านี้ก็จะเริ่มเกิดความผิดปกติขึ้นครับและแสดงออกมาในรูปแบบของความเจ็บปวดในที่สุด นี่ก็คือวงจรของการเกิดออฟฟิศซินโดรมครับ

            นอกจากนี้สภาวะแวดล้อมในการทำงานก็มีผลต่อการเกิดออฟฟิศซินโดรมเช่นกันครับ โดยโต๊ะทำงาน เก้าอี้ ความสูงของจอคอมพิวเตอร์ ที่วางคีย์บอร์ดและเม้าส์ที่ไม่เหมาะสมกับสรีระของร่างกายก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมได้เช่นกันครับ

การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม

            แนวทางในการรักษาออฟฟิศซินโดรมมี 2 แนวทางที่นิยมในปัจจุบันครับ ซึ่งแนวทางทั้ง 2 ดังนี้

1. การรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

            ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางในการทำงานเสียใหม่ครับ โดยใช้ศาสตร์ของการยศาสตร์ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะออฟฟิศซินโดรม ในขณะเดียวกันอาการปวดที่เกิดขึ้นในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อแพทย์อาจจะแนะนำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ แต่หากผู้ป่วยรายใดที่มีอาการมากก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาครับ

2.การรักษาด้วยวิธีทางธรรมชาติ

            ในแนวทางของการรักษาด้วยวิถีแห่งธรรมชาติก็เช่นกันครับที่จะเน้นไปที่การปรับสมดุลของร่างกายและท่าทางเพื่อลดปัญหาของออฟฟิศซินโดรมร่วมกับการผสานศาสตร์ของการนวดและการประคบด้วยสมุนไพรเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกิดการตึงตัวครับ และยังมีการใช้สมุนไพรต่าง ๆในการรักษาอาการของออฟฟิศซินโดรมดังต่อไปนี้

            – ไพล: มีสรรพคุณในการลดการอักเสบเช่นเดียวกับยาลดการอักเสบของแพทย์แผนปัจจุบัน

            – ตะไคร้: มีสรรพคุณในการขับลมในเส้นเอ็น ช่วยให้เลือดหมุนเวียน บรรเทาอาการปวด

            – พริก: มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ มักจะใช้กันในรูปของเจลทาลด ปวด

            – เถาวัลย์เปรียง: มีสรรพคุณแก้อาการปวด แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ

การป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

            การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะออฟฟิศซินโดรมที่ได้ผลดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงไม่ให้อยู่ในปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการครับ เช่นการปรับสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับสรีระของตนเองในขระนั่งทำงาน หลีกเลี่ยงการนั่งหรืออยู่ในท่าเดียวกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและควรจะลุกขึ้นเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ1-2 ชั่วโมง รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะซินโดรมได้ครับ

            แม้ภาวะออฟฟิศซินโดรมจะไม่ทำให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงต่อสุขภาพโดยตรงก็ตาม แต่หากละเลยสัญญาณเตือนต่าง ๆที่ร่างกายฟ้องออกมาและไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากอาการที่เล็กน้อยและสามารถหายได้เองก็มีสิทธิ์ที่จะลุกลามกลายเป็นปัญหาที่บานปลายต่อไปได้ในอนาคตครับ ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเสียก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายจนยากจะแก้ไขได้ในที่สุดครับ

โรคออฟฟิตซินโดรม

Add Comment