Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

โรคความดันโลหิตสูง ต้นตอเส้นเลือดสมองแตก หัวใจวายที่แท้จริง

โรคความดันโลหิตสูง ต้นตอเส้นเลือดสมองแตก หัวใจวายที่แท้จริง

            ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เรียกได้ว่าเป็นมฤตยูเงียบอีกโรคหนึ่งครับ ด้วยความที่อาการแสดงออกของโรคนี้มีน้อยมากและบางรายแทบจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ออกมาเลย ทำให้กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่น่ากลัวกว่าขึ้นมาเสียแล้ว แต่กระนั้นโรคนี้ก็สามารถตรวจพบได้ง่ายมากครับเพียงแค่คุณตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอและหากคุณมีภาวะของความดันโลหิตสูงคุณก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ในที่สุด โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร และทำไมเราจึงต้องใส่ใจต่อภาวะนี้ บทความนี้มีคำตอบครับ

โรคความดันโลหิตสูงคืออะไร

            ในระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายสิ่งสำคัญที่จะทำหน้าที่เป็นจุดกำเนิดของระบบไหลเวียนเลือดก็คือ “หัวใจ” ครับ โดยหัวใจจะใช้การบีบตัวและคลายตัวในการส่งผ่านโลหิตไปตามหลอดเลือด การบีบและคลายตัวนี้ในภาษาชาวบ้านเราจะเรียกว่าจังหวะการเต้นของหัวใจครับ การบีบและคลายตัวของหัวใจในแต่ละครั้งจะเกิด “แรงดัน” ขึ้นมาค่าหนึ่งซึ่งแรงดันที่เกิดขึ้นนี้มีความสำคัญโดยตรงกับการส่งผ่านโลหิตไปทั่วร่างกายครับ ซึ่งหากปราศจากแรงดันตัวนี้ก็ไม่มีทางเลยที่เลือดจะไหลเวียนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เรามีคำเรียกที่เฉพาะเจาะจงของแรงดันตัวนี้ว่า “ค่าความดันโลหิต” ครับ ซึ่งในคนปกติค่าความดันโลหิตตัวนี้จะอยู่ที่ 120/80 mmHg (มิลลิเมตรปรอท) ครับ

            ภาวะความดันโลหิตสูงก็คือภาวะที่ค่าความดันโลหิตสูงกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท เหตุที่ความดันโลหิตสูงกว่าค่ามาตรฐานอาจมีสาเหตุมาจากภายในหลอดเลือดมีแรงต้านทานมากขึ้นกว่าเดิมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นในการบีบตัวเพื่อเอาชนะแรงต้านภายในหลอดเลือดจึงส่งผลให้เราเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นได้ครับ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือหาสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ในที่สุดเราก็จะเป็นโรคความดันโลหิตได้อย่างถาวร

โรคความดันโลหิตสูงแบ่งได้เป็น 3 ระยะ

            -ระยะที่ 1 : จะวัดค่าความดันโลหิตได้ที่ 140-159 /90-99 mmhg

            -ระยะที่ 2 : จะวัดค่าความดันโลหิตได้ที่ 160/100 mmhg

            -ระยะที่ 3 : จะวัดค่าความดันโลหิตได้ที่ 180/110 mmhg

ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ล้วนแต่ต้องรับการรักษาก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนครับ

โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากสาเหตุใด

            โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่สร้างความปวดหัวมากที่สุดโรคหนึ่งครับ เพราะส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งเป็นภาวะความดันสูงที่พบบ่อยที่สุด และมักจะเป็นมานานโดยที่เราไม่รู้ตัวจนไม่อาจระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่ก็มีความดันโลหิตสูงบางประเภทที่มีสาเหตุเกิดมาจากความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น ความผิดปกติที่ไต ต่อมหมวกไต ผลข้างเคียงจากการใช้ยาและแอลกอฮอล์ครับ

            แม้ว่าโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เราจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่กระนั้นก็มีปัจจัยหลายอย่างที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ปัจจัยที่ว่ามีดังต่อไปนี้

            -อายุ : อายุยิ่งมากก็มีโอกาสที่จะเป็นความดันโลหิตสูงมากขึ้น

            -พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็มีโอกาสที่คนในครอบครัวจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงครับ

            -การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงก็มีโอกาสทำให้ความดันโลหิตสูงครับ

            -การสูบบุหรี่ : สารพิษในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแข็ง ซึ่งจะทำให้แรงต้านในหลอดเลือดมากขึ้นก็ มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง

            -ไขมันในเลือดสูง : จะมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ ทำให้แรงต้านทานในหลอดเลือดมากขึ้น  ครับ     

            -โรคอ้วน

            -ขาดการออกกำลังกาย

            -ความเครียด : ภาวะเครียดจะทำให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้นและทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

            -การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ : แอลกอฮอล์ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิต   สูงขึ้นครับ

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

            การรักษาโรคความดันโลหิตสูงมี 2 แนวทางที่นิยมในปัจจุบันครับ แนวทางที่ว่ามีดังนี้

1. การรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

            แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติครับ แต่ในบางรายที่ความดันโลหิตสูงมาก ๆ แพทย์ก็อาจวินิจฉัยให้ใช้ยาลดความดันโลหิตเป็นตัวช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับเกณฑ์ปกติ

2. การรักษาโดยวิธีการทางรรมชาติ

            เช่นเดียวกับทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่การรักษาทางธรรมชาติจะเน้นให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงครับ แต่ในทางการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติจะเสริมเพิ่มเติมสมุนไพรทางธรรมชาติที่จะช่วยลดและควบคุมระดับความดันโลหิตในผู้ป่วย ตัวอย่างของสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตมีดังนี้ครับ

            -ขิง : ขิงสดช่วยลดความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงได้ครับ เพียงนำขิงสดฝานบาง ๆ ต้มน้ำเปล่า  ดื่มทุกวัน วันละ 1 แก้ว เท่านั้น

            -กระเทียม : มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูงและเพิ่มการไหลเวียนเลือด สามารถรับประทาน สด ๆ จะได้สรรพคุณดีกว่าปรุงสุก

            -ตะไคร้ : มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน และช่วยลดคลอเลสเตอรอลอีกหนึ่งปัจจัยที่  ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง

            -ใบบัวบก : มีการวิจัยพบว่าในใบบัวบกมีสารสำคัญที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้และช่วยเพิ่ม  การ  ไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้นได้

            -มะรุม : ในมะรุมมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตได้ โดยการนำรากหรือยอดมะรุมมาต้มดื่มเป็น ประจำ

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

            วิธีการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงครับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคไม่ทานอาหารเค็มจัดหรือไขมันจัด ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่และออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้ครับ การตรวจสุขภาพประจำปีก็มีส่วนช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วก็จะลดภาระแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นจากความดันโลหิตสูงได้ครับ

            ความดันโลหิตสูงป้องกันได้หากเรารู้จักการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องรวมถึงการป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เป็นความดันสูงครับ เพราะจริง ๆ แล้วโรคความดันโลหิตสูงไม่ได้น่ากลัวเท่ากับภาวะแทรกซ้อนที่มีสิทธิ์ทำให้คุณมีการเสียชีวิตได้เลยครับ

Add Comment