Healthykare ยินดีต้อนรับ
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์
Close
ถ.ประเสริฐมนูกิจ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230 92 หมู่บ้านพรีเมี่ยมเพลส ซ.ประเสริฐมนูกิจ 29
เวลาทำการ 8.00-18.00 จันทร์ - ศุกร์

โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต อุปกรณ์ไฮเทคล้วนต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญในการควบคุมให้อุปกรณ์นั้นทำงานอย่างราบรื่น อุปกรณ์ที่ว่าก็คือคอมพิวเตอร์หรือเรียกกันอีกชื่อว่า “สมองกล” หากขาดอุปกรณ์นี้ความสะดวกสบายในชีวิตเราหลาย ๆอย่างคงมีอันต้องสะดุดหยุดลง และอุปกรณ์เหล่านี้เมื่อมีอายุการใช้งานนาน ๆ สมองกลภายในมักออกลูกเกเร งอแงให้เราปวดหัวอยู่เป็นประจำ อุปกรณ์เหล่านี้หากเริ่มชำรุด วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คงเป็นการเอาไปซ่อมหรือเปลี่ยนตัวควบคุม หรือไม่ก็คงซื้อใหม่เสียเลย

            แต่หากเปรียบเทียบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นร่างกายของคน สมองกลก็เปรียบได้กับสมองของคนเรา แต่มันต่างกันที่เราไม่อาจเปลี่ยนสมองของเราได้ดั่งใจ ยิ่งอายุมากขึ้น ร่างกายเรายิ่งพบเจอความเสื่อมเป็นธรรมดา และความเสื่อมนี้ก็ไม่เคยเลือกอวัยวะเสียด้วย จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้สูงอายุที่เรารักเกิดภาวะ “สมองเสื่อม” และ “หลงลืม”

โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ คืออะไร

            ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ความเสื่อมเกิดจากอายุที่มากขึ้น พันธุกรรม หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆเช่นความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าภาวะสมองเสื่อมก็คล้าย ๆกับคอมพิวเตอร์ที่แฮงค์บ่อย ๆนั่นเอง

อาการภาวะสมองเสื่อมเป็นอย่างไร        

อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ภาวะสมองเสื่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ  ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจึงมีอาการดังต่อไปนี้

            1. เสียความทรงจำ: นี่คืออาการที่เด่นชัดที่สุดของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม และมักแสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงแรกและสังเกตเห็นได้ง่ายที่สุด ผู้ป่วยมักหลงลืมสิ่งที่ทำเป็นประจำเช่นลืมวิธีใส่เสื้อ ลืมทางกลับบ้าน ลืมสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

            2. มีปัญหาในการสื่อสาร การใช้คำและภาษา: ระยะแรกอาจเริ่มจากการนึกคำไม่ค่อยออก พูดจาติดขัดและการพูดจะน้อยลง ๆ ถัดจากนั้นจะเริ่มพูดไม่เป็นภาษาจนถึงขั้นเหลือเพียงแค่การเปล่งเสียงร้องโวยวายเท่านั้น

            3. มีปัญหาในการใช้เหตุผลหรือแก้ไขปัญหา: มีการตอบโต้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผิดแผกไปจากเดิม เช่นเมื่อไม่พอใจอะไรอาจใช้ความรุนแรงเช่นทุบตี โวยวาย

            4. มีปัญหาในการวางแผนการจัดการงานต่าง ๆ : ลำดับขั้นตอนการทำงานไม่ได้ เช่นเมื่อน้ำที่ต้มไว้เดือดอาจจะนั่งดูน้ำเดือดเฉย ๆ โดยไม่ปิดเตา หรือปล่อยน้ำให้ล้นโดยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

            5. มีปัญหาในการเคลื่อนไหว: การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน หลงลืมไปว่าจะต้องเคลื่อนไหวอย่างไร

            6. มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ

                -บุคลิกภาพเปลี่ยน ,พฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่นไม่ยอมอาบน้ำ ก้าวร้าวหรือชอบขโมยของทั้งที่ ตนเองไม่เคยทำมาก่อน

               -มีอาการซึมเศร้า

               -มีความหวาดระแวง

              -กระสับกระส่าย โวยวาย หรือถึงขั้นอาละวาด

              -ประสาทหลอน

ภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะขี้หลงขี้ลืม

            ในผู้สูงอายุอาจมีความทรงจำระยะสั้นบางอย่างที่แย่ลง นั่นเป็นอาการปกติที่มักเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ภาวะหลงลืมนี้จึงไม่ใช่ภาวะเดียวกับภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุหรือคนรอบข้างมักเหมารวมไปว่า “เป็นโรคสมองเสื่อม” และคิดว่าตนเองบกพร่องด้านความทรงจำทั้ง ๆ ที่ภาวะหลงลืมแบบนี้มีอาการเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อม อาการหลงลืมที่มักพบได้บ่อย ๆ ในผู้สูงอายุที่อายุมากเช่น ลืมว่าวางของไว้ตรงไหน ลืมว่าเปิดน้ำทิ้งเอาไว้ ลืมว่าตนเองต้มน้ำแล้วไปทำอย่างอื่น หรือลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ สิ่งสำคัญคือภาวะขี้หลงขี้ลืมไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตตามปกติ และดีขึ้นได้ถ้ามีสมาธิหรือใช้การจดบันทึกเพื่อเตือนความจำ

ภาวะสมองเสื่อมก็ไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์

            โดยทั่วไปเรามักเหมารวมว่าโรค 2 โรคนี้คือโรคเดียวกันทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมต่างหาก

            ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองหรือการขาดวิตามินบางชนิดเช่น วิตามิน B3 เป็นต้น

ลดปัญหาหนีห่างจากภาวะหลงลืมหรือสมองเสื่อมได้อย่างไร

1. ส่งเสริมกระตุ้นทักษะด้านการรับรู้ ความคิดความเข้าใจ

            ปัจจุบันมีกิจกรรมหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมทักษะในด้านนี้เช่น การเล่นหมากรุก เกมส์เสริมทักษะ การเล่นไพ่ ฯลฯ นอกจากนี้กิจกรรมเหล่านี้ยังมีประโยชน์ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย

2. ให้มีกิจกรรมทางกายเป็นประจำ

            กิจกรรมทางกายที่ผู้สูงอายุควรทำเป็นประจำเช่น การออกกำลังกายและการให้ทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างด้วยตนเอง  กิจกรรมหลายอย่างที่ผู้สูงอายุยังทำได้ต้องยอมให้ท่านทำ ผู้เขียนเคยเจอกรณีที่ลูกหลานรักคุณพ่อมากเกินไปไม่ยอมให้ท่านทำอาหารทั้ง ๆที่ท่านเป็นคนชอบการทำอาหารและทำมาตั้งแต่ยังหนุ่ม พอไม่ให้ท่านทำ ท่านไม่รู้จะทำอะไรก็เลยอยู่เฉย ๆ เลยกลายเป็นว่า คุณพ่อท่านนี้ลดกิจกรรมทางกายไปเรื่อย ๆ จนต้องพึ่งพาคนอื่นไปในที่สุด

3. ให้มีกิจกรรมทางสังคม

            การพบปะพูดคุยกับคนในวัยเดียวกันหรือมีกิจกรรมร่วมกันจะทำให้สมองได้รับการกระตุ้นและช่วยชะลอความเสื่อม นอกจากนี้ยังทำให้ผู้สูงอายุได้รับความสุขทางใจอีกด้วย

4. มีงานอดิเรกร่วมกัน

            งานอดิเรกที่ผู้สูงอายุชอบทำคือสิ่งที่ช่วยชะลอไม่ให้สมองเสื่อมเร็วมากขึ้นจึงควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานอดิเรก นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการทำงานอดิเรกร่วมกันจะทำให้ผู้สูงอายุยังรู้สึกว่าตนยังมีคุณค่า และสานความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวอีกด้วย

5. ปรับสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้ปลอดภัย

            สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญไม่ว่าผู้สูงอายุจะมีหรือไม่มีภาวะสมองเสื่อม เพราะอุบัติเหตุหลายอย่างที่คาดไม่ถึงมักเกิดขึ้นในบ้าน เคยมีกรณีที่คุณยายท่านหนึ่งจากที่แข็งแรงแล้วหกล้ม กระดูกหัก ต้องนอนติดเตียงอยู่กับบ้าน ท้ายที่สุดคุณยายทันนี้พอไม่ค่อยได้ทำอะไรก็เริ่มหลงในที่สุด  ยิ่งผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงลืมหรือมีภาวะสมองเสื่อมยิ่งต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมากยิ่งขึ้น

6. ทานอาหารบำรุงสมอง

            ผลงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า อาหารก็มีส่วนสำคัญต่อการชะลอความเสื่อมของสมองนี้ยิ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับบำรุงสมองออกมาหลายชนิดเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุ สารอาหารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ และรวมถึงสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน ช่วยบำรุงและชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง ช่วยแก้ปัญหาภาวะสมองเสื่อม หลงลืม

            โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุอาจฟังดูน่ากลัว แต่หากเรารู้จักและทำความเข้าใจกับมัน จริง ๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเราสามารถป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของสมองให้แก่ผู้สูงอายุได้ หรือแม้กระทั่งหากท่านมีภาวะสมองเสื่อมแล้วก็ตาม ความรักความเข้าใจ ความเอาใจใส่ดูแลท่านคือสิ่งที่ลูกหลานควรกระทำให้ท่าน เพื่อให้ท่านมีชีวิตอยู่ด้วยความสบายกายและสบายใจที่สุด  สิ่งเหล่านี้สำคัญในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมและจะทำให้ท่านอยู่กับเราไปได้นานที่สุด

Add Comment